เวลาพูดถึงนิ่ว หลาย ๆ คนมักคิดถึงแต่นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แต่ในความเป็นจริงแล้วนิ่วสามารถเกิดขึ้นที่อื่นได้เช่นกัน ซึ่งพบได้บ่อยและถือเป็นหนึ่งในโรคอันตราย นั่นก็คือ นิ่วในถุงน้ำดี โดยสามารถพบได้มากถึง 20% ของประชากรทั่วโลก และสำหรับในคนไทยนั้นจะพบได้ประมาณ 6% ซึ่งก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นี่จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เราควรจะรู้จักกับโรคนิ่วในถุงน้ำดีเอาไว้ เพื่อให้รู้เท่าทันจนสามารถดูแลตัวเองและคนที่รักให้ปลอดภัยจากโรคนี้ให้ได้มากที่สุด
นิ่วในถุงน้ำดีคืออะไร รีบรู้จักไว้เพราะอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด
นิ่วในถุงน้ำดี คือตะกอนที่จับตัวกันเป็นก้อนและสะสมอยู่ในถุงน้ำดี โดยมีสาเหตุมาจากความเข้มข้นของสารประกอบในน้ำดีผิดปกติ จนเกิดเป็นตะกอน แล้วจับตัวกันเป็นก้อนนิ่ว ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดการอุดตันในระบบทางเดินน้ำดีได้ พอนิ่วไปอุดตันในบริเวณถุงน้ำดีแล้ว ถุงน้ำดีจึงต้องออกแรงบีบตัวมากขึ้นเพื่อปล่อยน้ำดีออกมาย่อยอาหารจนเกิดเป็นอาการปวดในที่สุด
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้มากกว่าปกติ
แม้นิ่วในถุงน้ำดีจะเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดได้กับทุกคน แต่ก็มีผู้คนบางกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคเลือดแตกง่าย เพราะในคนกลุ่มนี้จะมีความเข้มข้นของสารประกอบในน้ำดีที่ต่างจากคนอื่น ๆ จึงทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ง่ายกว่า
อีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงมีนิ่วในถุงน้ำดีสูง คือกลุ่มคนที่ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หรือเป็นกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคไขมันในเลือดสูง คอเรสเตอรอลสูง เนื่องจากคอเรสเตอรอลจะมีโอกาสจับตัวกันเป็นก้อนนิ่วในถุงน้ำดีได้นั่นเอง
โรคนิ่วในถุงน้ำดีมีอาการสังเกตได้อย่างไรบ้าง
มากกว่า 80% ของคนที่มีนิ่วในถุงน้ำดีจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก ซึ่งผู้ป่วยจะรู้ตัวว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีก็ต่อเมื่อได้รับการตรวจสุขภาพด้วยการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบนเพียงเท่านั้น
โดยอาการสำคัญที่เป็นสัญญาณเตือนในระยะแรกๆของโรคนิ่วในถุงน้ำดี ได้แก่ อาการอืดแน่นท้องหลังทานอาหารมัน ต่อมาเมื่อมีอาการหนักขึ้น จะเริ่มมีอาการปวดจุกแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวาหรือปวดร้าวไปยังบริเวณสะบักหลังได้ ซึ่งมักจะปวดหลังจากรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารมัน ทอด หรือว่าบุฟเฟต์ เนื่องจากถุงน้ำดีจะทำงานบีบหลั่งน้ำดีหลังมื้ออาหาร
ทั้งนี้ อาการปวดจะกินระยะเวลาประมาณ 30-60 นาที แล้วหายไป ซึ่งที่อาการปวดหายไปนั้น เป็นเพราะนิ่วกลิ้งหลุดออกจากจุดที่อุดตัน ซึ่งถ้านิ่วยังติดอยู่ที่เดิม เกิดการอุดตันตลอดเวลา อาการปวดก็จะไม่หาย ปวดตลอดเวลา ไม่ว่าจะทานอาหารหรือไม่ก็ตาม และจะรุนแรงขึ้นจนอาจทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงได้
ซึ่งหากเกิดการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดรุนแรงตลอดเวลา และอาจจะถึงขั้นทำให้ถุงน้ำดีทะลุและติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน ไม่เช่นนั้นอาจเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
ดูแลตัวเองอย่างไรดี ให้เสี่ยงโรคนิ่วในถุงน้ำดีน้อยที่สุด
เนื่องจากโรคนิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากความเข้มข้นของน้ำดีที่ผิดปกติจนตกตะกอนจับตัวกันเป็นก้อนนิ่ว จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงได้โดยตรง สิ่งที่ทำได้คือการดูแลเรื่องอาหาร ด้วยการหลีกเลี่ยงการรับประทานของมันของทอด แต่อย่างไรก็ตามแม้จะดูแลเรื่องการรับประทานอาหารเป็นอย่างดีแล้ว ก็ยังมีความเสี่ยงเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้อยู่ดี
นั่นเองจึงทำให้วิธีที่เราจะปลอดภัยจากโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้มากที่สุด จึงเป็นเรื่องของการตรวจเชคสุขภาพประจำปีด้วยการอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน และ หมั่นสังเกตอาการอืดแน่นท้อง หรือ ปวดบริเวณใต้ชายโครงด้านขวาหลังทานอาหาร
เนื่องจากอาการที่ผิดปกติเพียงแค่เล็กน้อย จึงทำให้มีคนจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี หรือไม่ก็สับสนว่าเป็นโรคกระเพาะ จึงรักษาไม่หาย และมีอาการรุนแรงมากขึ้น หรือในคนไข้บางรายก็อาจเป็นทั้งนิ่วในถุงน้ำดีและโรคกระเพาะร่วมกัน แต่เมื่อไม่ได้รับการรักษาทั้ง 2 โรค อาการปวดจึงยังคงไม่หายขาด
ดังนั้น หากสังเกตุพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการอืดแน่นท้อง หรือ ปวดท้องผิดปกติหลังมื้ออาหารบ่อย ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่ หรือเป็นโรคอะไรกันแน่ เพื่อให้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมและหายดีกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง
สรุป
โรคนิ่วในถุงน้ำดี ถือเป็นภัยเงียบที่อยู่ใกล้ตัวเราทุกคน โดยที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยซึ่งก็คือ อาการอืดแน่นท้องหลังทานอาหาร และเมื่อเป็นมากขึ้น จะเริ่มปวดบริเวณใต้ชายโครงขวาหลังมื้ออาหาร และเนื่องจากอาการปวดที่เป็นเพียงเล็กน้อย และเป็น ๆ หาย ๆ เป็นพัก ๆ ทำให้หลายคนอาจมองข้ามไป กลายเป็นการปล่อยทิ้งไว้จนมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากขึ้น
ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการหมั่นสังเกตอาการตัวเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่เราไม่ควรละเลย รวมถึงการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ก็จะช่วยคัดกรองเราให้ตรวจพบเจอโรคได้เร็วและปราศจากภาวะแทรกซ้อนได้