ผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก

ใครบ้างที่ผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักได้

ผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโรคอ้วน หรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งหลายคนก็อาจจะสงสัยว่า แล้วต้องน้ำหนักเกินมาตรฐานเท่าไร หรือมีเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร ถึงจะสามารถเข้ารับการรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดกระเพาะได้ ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะมีวิธีการพิจารณาผู้ป่วยที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักได้ 3 แนวทางหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

พิจารณาผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักจากค่า BMI

ค่า BMI หรือ Body Mass Index หมายถึง ค่าดัชนีมวลกายที่ใช้เป็นมาตรฐานในการประเมินภาวะโรคอ้วน ซึ่งสำหรับคนไทยและคนเอเชีย หากค่า BMI อยู่ที่ 23-24.9 ไม่ว่าจะป็นผู้ชายหรือผู้หญิง จะถือว่ามีภาวะน้ำหนักเกิน และหากค่า BMI สูงกว่า 25 ขึ้นไป จะถือว่ามีภาวะโรคอ้วน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้มีภาวะโรคอ้วนแพทย์จะพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักได้นั้น หากไม่มีโรคร่วมด้วยเลย จะต้องมีค่า BMI สูงกว่า 37.5 ขึ้นไป

พิจารณาผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักจากค่า BMI และโรคร่วม

ในกรณีที่ผู้ป่วยค่ามี BMI ไม่ถึง 37.5 แพทย์ก็ยังสามารถพิจารณาผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักให้ได้ หากมีโรคร่วมตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยหากผู้ป่วยมีค่า BMI มากกว่า 32.5 และมีโรคร่วม อาทิ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ นอนกรน ข้อเข่าเสื่อม โรคถุงน้ำในรังไข่ผิดปกติ หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักได้

พิจารณาผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักเฉพาะบุคคล

สำหรับผู้ป่วยที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป และมีภาวะโรคเบาหวาน ซึ่งได้มีการปรับพฤติกรรมแล้ว ควบคุมด้วยยาแล้ว แต่ยังไม่ไม่สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ แพทย์ก็ผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักให้ได้เช่นกัน แต่ก็จะต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไป โดยเป้าหมายในการรักษานั้นก็เพื่อควบคุมน้ำหนักและลดภาวะความรุนแรงของโรคเบาหวาน

คำนวณค่า BMI อย่างไร ให้รู้ว่าถึงเกณฑ์ผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักได้

เนื่องจากการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักนั้น จะใช้เกณฑ์ในการคัดกรองโดยพิจารณาจากค่า BMI เป็นสำคัญ การรู้วิธีคำนวณหาค่า BMI ด้วยตัวเองได้อย่างถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่ควรรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถประเมินตนเองหรือคนในครอบครัวใกล้ชิดได้ว่ามีภาวะโรคอ้วนถึงเกณฑ์ที่สามารถผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักได้หรือไม่ 

โดยสูตรการคำนวณหาค่า BMI นั้นสามารถทำได้ง่าย ด้วยการนำ “น้ำหนักตัว” หารด้วย “ส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง” แล้วนำไปเทียบกับค่า BMI มาตรฐานที่ 25 ว่าสูงหรือต่ำกว่า โดยหากคำนวณแล้วพบว่าค่า BMI สูงกว่า 25 จะเท่ากับว่าเรามีภาวะโรคอ้วน และถ้าสูงเกิน 30 ขึ้นไปและมีโรคร่วมด้วย ก็จะมีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก

ตัวอย่างการคำนวณค่า BMI เช่น นายกองทัพ สูง 178 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 134 กิโลกรัม ค่า BMI ของนายกองทัพจะเท่ากับ 134 ÷ [1.78 x 1.78] = 42.29 ซึ่งถือว่าสูงอยู่ในเกณฑ์ทีควรต้องผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก แม้ไม่มีโรคร่วมด้วยก็ตาม

ใครบ้างที่ผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักไม่ได้

เราได้ทราบถึงเกณฑ์ในการคัดกรองกันไปแล้วว่าใครบ้างที่สามารถผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักได้ ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้ว แม้ผู้ป่วยจะมีค่า BMI ถึงเกณฑ์คัดกรองการผ่าตัดแล้ว ก็ยังมีปัจจัยที่ทำให้แพทย์อาจพิจารณาไม่ให้ผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักได้เช่นกัน โดยผู้ที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักได้นั้น มีดังต่อไปนี้

ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดอาหารอักเสบรุนแรง

เนื่องจากหลังการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก จะมีความเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะกรดไหลย้อนรุนแรงมากขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดอาหารอักเสบรุนแรงอยู่แล้ว แพทย์จะไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัด เพราะเสี่ยงทำให้มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ ด้วยเหตุนี้เอง ก่อนการผ่าตัดแพทย์จึงต้องทำส่องกล้องตรวจดูกระเพาะอาหารและหลอดอาหารว่ามีความผิดปกติหรือไม่ มีภาวะของการอักเสบ ติดเชื้อหรือไม่ เพื่อพิจารณาแผนผ่าตัดให้รอบคอบก่อนทำการผ่าตัด

ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวรุนแรงอื่น ๆ

เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่กำลังรักษาอยู่ ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวรุนแรงจนไม่สามารถทนการดมยาสลบได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภท หรือมีสภาวะเครียดรุนแรง

เนื่องจากการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก เป็นการผ่าตัดใหญ่ ที่ส่งผลต่อขนาด และดูดซึมของกระเพาะอาหาร จึงอาจทำให้อาจส่งผลกระทบต่อโรคประจำตัวอื่น ๆ ได้ ดังนั้นในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวรุนแรง จึงจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์เป็นรายบุคคลว่าสามารถให้ผ่าตัดได้หรือไม่ หรือจำเป็นจะต้องควบคุมโรคที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นก่อนผ่าตัด

แม้การ ผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก จะเป็นวิธีการผ่าตัดเพื่อสุขภาพที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคอ้วนน้ำหนักเกิน ลดน้ำหนักได้จริง จนสามารถกลับมามีรูปร่างที่สมส่วนอย่างที่ฝันได้อีกครั้ง แต่การจะผ่าตัดได้หรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับแนวทางการวินิจฉัยและดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งจำเป็นจะต้องดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโดยตรง เพื่อให้สามารถวางแผนการผ่าตัดรักษาได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย อันนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพตรงตามเป้าหมาย ที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

doctorsirasit.com ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น
อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)