โรคไทรอยด์ เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่จะพบในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชายถึง 4 เท่า สาเหตุสำคัญของโรคเกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จนนำไปสู่อาการผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจลุกลามรุนแรงจนถึงขั้นกลายไปเป็นมะเร็งไทรอยด์ได้ ทั้งนี้ วิธีรักษาไทรอยด์ จะขึ้นอยู่กับชนิดความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ในคนไข้แต่ละราย โดยสามารถแบ่งแนวทางในการรักษาไทรอยด์ออกได้เป็น 3 วิธี ดังต่อไปนี้
1.วิธีรักษาไทรอยด์ชนิดฮอร์โมนไทรอยด์สูงผิดปกติ
กรณีวินิจฉัยแล้วว่าคนไข้เป็นไทรอยด์ผิดปกติชนิดฮอร์โมนไทรอยด์สูง แพทย์จะเริ่มจากการให้รับประทานยาควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ก่อน เมื่อไม่สามารถลดปริมาณยาลงได้ ก็จะเป็นข้อบ่งชี้หนึ่งในการผ่าตัด เนื่องจากจะเป็นวิธีเดียวที่ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ตลอดชีวิต แต่จำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่าจะผ่าตัดเพียงข้างเดียวหรือสองข้าง ขึ้นกับอาการ และโรคของคนไข้แต่ละราย
2.วิธีรักษาไทรอยด์ชนิดฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำผิดปกติ
ในกรณีของคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นฮอร์โมนไทรอดย์ต่ำผิดปกตินั้น จริง ๆ แล้วแพทย์ก็จะรักษาด้วยการให้รับประทานยาเพิ่มระดับฮอร์โมนไทรอยด์ แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำมานาน ทำให้ต่อมไทรอยด์จะพยายามกระตุ้นตัวเองให้ผลิตฮอร์โมนออกมามากขึ้น
ซึ่งเมื่อกระตุ้นตัวเองมาก ๆ ก็จะทำให้ต่อมไทรอยด์มีก้อนขนาดใหญ่ จนอาจเบียดหลอดลมหรือหลอดอาหารได้ โดยหลาย ๆ คนอาจเรียกคนที่มีอาการฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ จนมีก้อนที่คอขนาดใหญ่สังเกตได้ชัดเจนว่า “โรคคอพอก” ซึ่งจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
3.วิธีรักษาไทรอยด์ชนิดมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์
ในการรักษาก้อนที่ต่อมไทรอยด์นั้น แพทย์จะพิจารณาจากขนาดและลักษณะของก้อนเป็นสำคัญ หากก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็ก และมีลักษณะรูปร่างไม่เหมือนก้อนเนื้อร้ายที่เป็นมะเร็ง ก็สามารถรอติดตามดูอาการก่อนได้
แต่หากพิจารณาแล้วว่าก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่และมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง ก็จำเป็นจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งในการพิจารณาก้อนที่ต่อมไทรอยด์นั้นว่าจะเสี่ยงเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ จะใช้การตรวจวินิวิจฉัยด้วยการทำอัลตร้าซาวด์ รวมกับการเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ
ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นการรักษาก้อนที่ต่อมไทรอยด์ด้วยวิธีการใช้คลื่นไมโครเวฟ (Microwave) หรือ คลื่นเสียงความถี่สูง (Radiofrequency Ablation) เข้าไปทำลายตัวก้อนไทรอยด์ วิธีนี้มีข้อดีคือทำให้ก้อนยุบลงได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ยังไม่เป็นมาตรฐาน และยังไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากถ้าหากก้อนนั้นเป็นมะเร็ง จะทำให้ผู้ป่วยหลงเหลือมะเร็งในร่างกายได้
สรุป
วิธีรักษาไทรอยด์ ผิดปกตินั้น หลัก ๆ จะทำได้ 2 แนวทางด้วยกันคือการให้รับประทานยา และการผ่าตัด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประเภทของความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ในคนไข้แต่ละราย แต่โดยมากแล้ว จะหายขาดได้ด้วยก็ด้วยการผ่าตัดรักษา ซึ่งปัจุบันไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะสามารถผ่าตัดได้แบบแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ไม่มีแผลเป็นที่บริเวณคอ ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง แต่การผ่าตัดจะปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุดได้นั้น ก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของแพทย์ผ่าตัดด้วย