อาการนิ่วในถุงน้ำดี เช็คให้ดีเราอาจเป็นอยู่ก็ได้

อาการนิ่วในถุงน้ำดี เช็คให้ดีเราอาจเป็นอยู่ก็ได้

นิ่วในถุงน้ำดี เป็นหนึ่งในโรคที่มาพร้อมกับอาการปวดบริเวณท้องซึ่งถือเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในหลาย ๆ โรค จึงทำให้หลาย ๆ คนอาจไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานวันก็จะยิ่งเสี่ยงอันตรายมากขึ้น ดังนั้น การทำความรู้จักกับอาการนิ่วในถุงน้ำดีอย่างละเอียดจนเข้าใจ จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยให้เราดูแลตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย อาการนิ่วในถุงน้ำดี สามารถแบ่งได้ออกเป็นหลายระดับ ดังต่อไปนี้

  • ระดับที่ไม่มีอาการ ผู้ป่วยที่มีนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่า 80% จะไม่มีอาการ แต่สามารถตรวจพบเจอได้จากการตรวจคัดกรองสุขภาพประจำปี และถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดอันตราย หรือไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนเสมอไป
  • ระดับอาการน้อย อาจมีแค่มีอาการรู้สึกท้องอืด แน่นท้อง ซึ่งจะเป็นหลังจากรับประทานอาหาร จึงทำให้หลายคนสับสนว่าเป็นโรคกระเพาะหรือไม่ หรือบางคนก็อาจจะมองข้ามไปเลยไม่ได้ใส่ใจ เพราะเข้าใจว่าเป็นแค่เพียงอาการแน่นท้องหลังรับประทานอาหารเฉย ๆ แต่ในความเป็นจริงคือ อาจเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้
  • ระดับอาการสัญญาณเตือนผิดปกติ จะมีอาการปวดบริเวณใต้ชายโครงขวา ร้าวไปถึงสะบักหลัง หรือบางทีอาจรู้สึกร้าวไปถึงหลังและไหล่ได้ เนื่องจากบริเวณนั้นถูกเลี้ยงด้วยเส้นประสาทเส้นเดียวกัน โดยมักจะปวดหลังมื้ออาหาร ประมาณ 30-60 นาทีแล้วหายปวด เนื่องจากนิ่วที่อุดตันบริเวณท่อของถุงน้ำดียังสามารถกลิ้งออกมาได้เอง
  • ระดับอาการรุนแรง เมื่อก้อนนิ่วอุดตันตลอดเวลา จะทำให้อาการปวดรุนแรงมากขึ้น ปวดตลอดเวลา จนทำให้เกิดการติดเชื้อ มีไข้สูง และในบางรายที่ติดเชื้อรุนแรงอาจทำให้ถุงน้ำดีทะลุจนต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินได้ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หรืออีกกรณีหนึ่งคือนิ่วหลุดไปอุดตันบริเวณท่อน้ำดี ก็จะทำให้ท่อน้ำดีอักเสบติดเชื้อได้ ซึ่งจะมีอาการตัวเหลืองหรือที่เรียกกันว่าดีซ่าน โดยโรคท่อน้ำดีอักเสบติดเชื้อ ก็เป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตได้เช่นเดียวกัน

อาการนิ่วในถุงน้ำดี ต่างจากอาการโรคกระเพาะอย่างไร

เนื่องจากอาการนิ่วในถุงน้ำดี กับ อาการโรคกระเพาะ มีความคล้ายคลึงกัน จึงทำให้หลาย ๆ คนสับสนและเข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นโรคกระเพาะ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งเมื่อคาดเดาอาการโรคผิดพลาด ก็อาจทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนแยกแยะอาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดีและโรคกระเพาะออกได้ด้วยตัวเองในเบื้องต้น สามารถพิจารณาได้จากจุดเด่นสำคัญของอาการทั้ง 2 โรคซึ่งต่างกันอย่างชัดเจน ดังต่อไปนี้

  • จุดเด่นอาการนิ่วในถุงน้ำดี จุกแน่นท้อง ปวดบริเวณชายใต้ชายโครงด้านขวา ร้าวไปถึงสะบักหลังและไหล่ มักมีอาการหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะหลังอาหารมื้อใหญ่ที่เป็นของมัน ของทอด หรือบุฟเฟต์
  • จุดเด่นอาการโรคกระเพาะ แสบร้อนท้อง มักเป็นตอนท้องว่าง เช่น ก่อนรับประทานอาหาร ตอนกลางคืน หรือช่วงหลังตื่นนอนก่อนรับประทานอาหารเช้า บางคนอาจมีเรอเปรี้ยวร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการของกรดไหลย้อน และตำแหน่งของอาการปวด โรคกระเพาะมักปวดตรงกลาง แต่ก็มีบ้างที่ปวดบริเวณด้านซ้ายและด้านขวาของท้องได้ด้วยเช่นกัน

แพทย์วินิจฉัยอย่างไร จึงแน่ใจว่าเป็นอาการนิ่วในถุงน้ำดี

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อพบอาการปวดท้องผิดปกติ เป็น ๆ หาย ๆ ติดกันเป็นเวลานานไม่หายขาด นอกเหนือจากการวิเคราะห์อาการของตัวเองในเบื้องต้นแล้ว คำแนะนำที่ดีที่สุดเพื่อให้ทราบได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นอาการผิดปกติจากอาการนิ่วในถุงน้ำดีหรือโรคใดกันแน่นั้น คือการรีบไปปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์จะมีแนวทางในการวินิจฉัยอาการ ดังต่อไปนี้

  1. ซักประวัติตรวจร่างกายอย่างละเอียด หากมีอาการปวดบริเวณใต้ชายโครงขวาร้าวไปหลัง เป็น ๆ หาย ๆ หลังมื้ออาหาร จะมีแนวโน้มเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้มากกว่าโรคกระเพาะ
  2. ในกรณีการซักประวัติแล้วมีอาการแสบร้อน เรอเปรี้ยว จะมีแนวโน้มเป็นโรคกระเพาะอาหารมากกว่าโรคนิ่วในถุงน้ำดี
  3. เมื่อซักประวัติตรวจร่างกายเบื้องต้นแล้วแพทย์จะตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการทำอัลตร้าซาวด์ หรือในผู้ป่วยบางรายอาจพิจารณาทำ CT สแกน MRI หรือส่องกล้องทางเดินอาหารร่วมด้วยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  4. หลังจากการตรวจเพิ่มเติมแล้วก็จะทำให้ทราบได้แน่ชัดว่า เป็นอาการโรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคกระเพาะอาหาร หรือว่าโรคใดกันแน่ ซึ่งในคนไข้บางรายก็เป็นทั้ง 2 โรคร่วมกัน ซึ่งแพทย์ก็จะต้องวางแผนการรักษาให้อย่างเหมาะสมต่อไป

ในความเป็นจริงแล้ว ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการน้อย อาจจะไม่สามารถแยกอาการนิ่วในถุงน้ำดี และอาการโรคกระเพาะ ออกจากกันได้อย่างชัดเจน การซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง และช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

doctorsirasit.com ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น
อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)