โรคไทรอยด์ผิดปกตินั้น อาจเป็นได้ทั้งฮอร์โมนไทรอยด์สูง ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ และมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่ง อาการไทรอยด์ ในแต่ละความผิดปกติก็จะแตกต่างกันไป ในกรณีของคนไข้ที่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ และตรวจพบได้จากการตรวจร่างกายประจำปี แต่อย่างไรก็ตาม จะมีอาการที่สามารถสังเกตได้ และต้องพึงระวังไว้ ดังต่อไปนี้
1.สังเกตได้ว่าคอเราโตขึ้น หรือคลำพบเจอก้อนที่บริเวณคอ
ต่อมไทรอยด์จะอยู่บริเวณกลางลำคอ และสามารถเคลื่อนไหวได้ตามการกลืน ปกติแล้วต่อมไทรอยด์จะมีลักษณะแบนราบวางอยู่บนหลอดลม ซึ่งผู้ป่วยจะคลำพบด้วยตัวเองได้ไม่ง่ายนัก เมื่อไหร่ที่คลำพบก้อนที่คอ และเคลื่อนที่ขึ้นลงตามการกลืนแล้ว จึงควรเข้ามาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง
2.มีอาการหายใจติดขัด หายใจลำบาก
เมื่อก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่มากขึ้น จะไปกดเบียดหลอดลม จึงทำให้มีอาการหายใจติดขัด หายใจลำบากได้ และมักจะมีอาการมากขึ้นในขณะนอนราบ
3.มีอาการกลืนยาก กลืนลำบาก
นอกจากต่อมไทรอยด์จะอยู่ใกล้กับหลอดลมแล้ว ก็ยังอยู่ใกล้กับหลอดอาหารด้วย ดังนั้น เมื่อก้อนที่ต่อมไทรอยด์ใหญ่ขึ้นมาก ๆ ก็จะทำให้นอกจากก้อนจะไปกดเบียดหลอดลมจนมีอาการหายใจลำบากแล้ว ตัวก้อนที่ต่อมไทรอยด์ยังไปกดเบียดหลอดอาหารได้ด้วย ซึ่งอาการที่ตามมาก็คือจะทำให้คนไข้รู้สึกกลืนลำบาก เวลารับประทานอาหาร
4.เสียงแหบ
อาการเสียงแหบเกิดจากตัวก้อนลุกลามไปยังบริเวณเส้นประสาทที่เข้าไปเลี้ยงบริเวณเส้นเสียง ทำให้เกิดอาการเสียงแหบได้ โดยลักษณะของก้อนที่สามารถลุกลามถึงเส้นประสาทได้มักจะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งสูง หากคนไข้เคยตรวจพบแล้วว่ามีก้อนที่ต่อมไทรอยด์
โดยก้อนนั้นมีขนาดเล็ก และไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ การหมั่นสังเกตก้อนที่บริเวณคอ อาการหายใจลำบาก ติดขัด และการกลืนลำบาก เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่า ก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ขึ้นจนไปกดเบียดหลอดลมและหลอดอาหาร ซึ่งหากสังเกตพบอาการก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดและวางแผนการรักษาให้เหมาะสมโดยเร็ว
แทพย์วินิจฉัยอาการไทรอยด์อย่างไร จึงมั่นใจว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์
แม้อาการกลืนลำบาก หายใจติดขัด หรือเสียงแหบ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าก้อนที่ต่อมไทรอยด์อาจโต และมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งไทยรอยด์ได้ แต่ก็เป็นเพียงแค่ข้อสันนิษฐาน ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดเพื่อให้ทราบว่าก้อนไทรอยด์ที่เป็นนั้น เป็นมะเร็งหรือไม่ หรือเสี่ยงเป็นมะเร็งแค่ไหน การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ทั้งนี้ ในการวินิจฉัยอาการไทรอยด์ของแพทย์ว่าก้อนที่ต่อมไทรอยด์เสี่ยงเป็นมะเร็งมากน้อยแค่ไหนนั้น นอกจากการซักประวัติตรวจร่างกายโดยละเอียดแล้ว ผู้ป่วยยังจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อพิจารณาลักษณะของก้อนที่ต่อมไทรอยด์
เมื่อแพทย์ตรวจอัลตร้าซาวด์ก้อนที่ต่อมไทรอยด์แล้วพบว่า มีขนาด หรือลักษณะอยู่ในเกณฑ์เสี่ยง หรือมีลักษณะรูปร่างหน้าตาที่จะกลายเป็นมะเร็งได้ แพทย์จะพิจารณาเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและถูกต้องแม่นยำที่สุดว่าก้อนที่ต่อมไทรอยด์นั้นเป็นมะเร็งหรือไม่กันแน่ และหากผลการตรวจเจาะชิ้นเนื้อพบว่าเป็นมะเร็งก็จะวางแผนการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป
สรุป
จากสถิติการรักษาโรคไทรอยด์พบว่า มีเพียงแค่ 4-7% ของคนไข้ที่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์เท่านั้น ที่จะเสี่ยงกลายเป็นมะเร็งไทรอยด์ได้ แต่แม้โอกาสจะมีน้อยก็ไม่ควรประมาท เพื่อให้เราสามารถดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดให้ปลอดภัยจากมะเร็งไทรอยด์ให้ได้มากที่สุด
ซึ่งสำหรับใครก็ตามที่ปัจจุบันตรวจพบแล้วว่ามีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องได้รับการผ่าตัด ก็ควรหมั่นสังเกตอาการไทรอยด์อย่างใกล้ชิด และควรไปพบคุณหมอตามนัด เพื่อตรวจอาการและเฝ้าดูลักษณะของก้อนที่ต่อมไทรอยด์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงทีหากพบว่าก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีลักษณะเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง